กฎหมายระหว่างประเทศ แบ่งออกเป็น 3 สาขา ดังนี้
1.กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง (Public International Law)
ได้แก่ กฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในฐานะที่รัฐเป็นนิติบุคคล แผนกนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางการทูต การทำสนธิสัญญา และการทำสงคราม
2. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
หมายถึง กฎเกณฑ์ที่ใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนที่มีจุดนิติสัมพันธ์กับกฎหมายหลายระบบในความสัมพันธ์ทางแพ่งและพาณิชย์ รวมตลอดถึงกฎเกณฑ์ที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของคนต่างด้าวในดินแดนของรัฐอีกรัฐหนึ่ง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Private International Law) เป็นบทบัญญัติที่บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมบังคับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในต่างรัฐ บุคคลในต่างรัฐอาจจะไปพำนักพักพิงอยู่อีกรัฐหนึ่ง หรือไม่ก็มีความสัมพันธ์ในด้านธุรกิจหรือสัมพันธ์กันในด้านครอบครัว การสมรส การหมั้น การหย่า เรื่องเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลจะต้องเข้าไปควบคุมบังคับเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย
3.กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา (Criminal International Law)
คือ กฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ประเทศหนึ่งหรือรัฐหนึ่งตกลงยอมรับรองให้ศาลส่วนอาญาของอีกรัฐหนึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาลงโทษทางอาญาแก่บุคคลที่ได้กระทำความผิดนอกประเทศนั้นได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการร่วมกันปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา ซึ่งในบางครั้งได้กระทำในต่างแดน หรือผู้กระทำได้หลบหนีออกไปนอกรัฐที่กระทำความผิดเพื่อให้รอดพ้นจากการลงโทษ จึงต้องใช้กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญานี้มาควบคุม เพราะการที่จะลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญาแล้วหลบหนีไปรัฐอื่นนั้นเป็นเรื่องที่นอกเหนืออำนาจรัฐ ฉะนั้นเพื่อป้องกันปราบปรามคดีอาญาดังกล่าวรัฐต่าง ๆ จะต้องทำสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกันได้ เพื่อสะดวกในการนำผู้กระทำผิดนั้นมาลงโทษตามความผิดนั้น ๆ