ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
กับการดำเนินชีวิตและครอบครัว
กับการดำเนินชีวิตและครอบครัว
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสพระราชทานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้คนไทยได้ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ เพื่อใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างพอดี พอประมาณ สมดุล ไม่สุดโต่ง และสร้างภูมิคุ้มกันภัยที่อาจเกิดแก่ตนเอง ครอบครัว การงาน และสังคม
ความหมายเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง จึงประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้
๑. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
๒. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
๓. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยมี เงื่อนไข ของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง ๒ ประการ ดังนี้
๑. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ
๒. เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต
การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตของตนเองและครอบครัว ต้องยึดมั่นหลักการ “พึ่งตนเอง” ด้วยการบริหารจัดการอย่างพอดีและประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย สมาชิกแต่ละคนจะต้องรู้จักตนเอง เช่น รู้ข้อมูลรายรับ –รายจ่ายของตนเองและครอบครัว รักษาระดับการใช้จ่ายของตนเองไม่ให้เป็นหนี้และสมาชิกจะต้องรู้จักดึงความสามารถที่มีอยู่ในตนองออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด โดยเฉพาะความสามารถพึ่งตนเองในเรื่องปัจจัย 4 ให้ได้ก่อน
หลังจากพึ่งตนเองในด้านปัจจัย 4 ได้แล้ว ต้องพัฒนาตนเองให้สามารถ “อยู่ได้อย่างพอเพียง” กล่าวคือ รู้จักดำเนินชีวิตโดยยึดหลักทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา เพื่อให้ตนเองอยู่ได้อย่างสมดุล ซึ่งเป็นความสุขที่แท้จริงโดยไม่ให้รู้สึกขาดแคลนจนต้องเบียดเบียนตนเองหรือดำเนินชีวิตอย่างเกินพอดีจนต้องเบียดเบียนผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อม รวมทั้งไม่เป็นหนี้หรือมีภาระหนี้สินแต่สามารถหาปัจจัย 4 มาเลี้ยงตนเองได้โดยที่ยังมีเหลือเป็นเงินออมของตนเองและครอบครัวด้วย การพึ่งตนเองตามหลักทางสายกลางย่อมทำให้เกิดความสุขเมื่อตนเองและครอบครัว “อยู่ร่วมกันอย่างเอื้องอาทร” กล่าวคือ ควรมีความคิดที่จะแจกจ่ายแบ่งปันไปให้ผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ได้เพื่อนและเกิดเป็นวัฒนธรรมที่ดีที่จะช่วยลดความเห็นแก่ตัวและสร้างความพอเพียงให้เกิดขึ้นในจิตใจ
หลังจากนั้นควร “ อยู่ดียิ่งขึ้นด้วยการเรียนรู้” กล่าวคือ ต้องรู้จักพัฒนาตนเองด้วยการเรียนรู้จากธรรมชาติและประสบการณ์ในโลกกว้างด้วยตนเองหรือจากการแลกเปลี่ยนร่วมกับผู้อื่นให้เกิดเป็นครอบครัวแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนช่วยกันพัฒนาชีวิตของตนเองและผู้อื่นร่วมกัน มีการสืบทอดและเรียนรู้เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาของครอบครัว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในท้องถิ่นของตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้คุณธรรมและวัฒนธรรมเป็นตัวนำโดยไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง